ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่นเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เฝ้าระวังการระบาดของโรคโคนเน่า -หัวเน่ามันสำปะหลัง

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

2022 07 28

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เฝ้าระวังการระบาดของโรคโคนเน่า -หัวเน่ามันสำปะหลัง

         ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น โดย ดร.เสงี่ยม กอนไธสง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เฝ้าระวังการระบาดของโรคโคนเน่า -หัวเน่ามันสำปะหลัง เนื่องจากในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง กลางวันมีอากาศร้อน สภาพแวดล้อมเหมาะต่อการระบาดของโรคโคนเน่า -หัวเน่ามันสำปะหลัง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการของโรคให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรงหรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ใกล้บ้าน

         ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุของโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อรา Phytophthora spp.และเชื้อรา Fusarium spp.อาการของต้นมันสำปะหลังที่อยู่เหนือดินจะพบว่า ใบมันสำปะหลังแสดงอาการเหี่ยวเหลือง โคนต้นแสดงอาการ เป็นสีน้ำตาลหรือดำ หรือมันสำปะหลังบางพันธุ์โคนต้นจะมีการสร้างรากค้ำชูตรงรอยแตกของโคนต้น เมื่อถอนขึ้นมาหัวมันสำปะหลังแสดงอาการ ถ้าผ่าหรือหักหัวมันสำปะหลังจะเห็นภายในสีน้ำตาล ในมันสำปะหลังบางพันธุ์มีอาการ ที่โคนและส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน โดยที่ส่วนของลำต้นและใบยังคงมีลักษณะปกติหรือบางพันธุ์แสดงอาการรุนแรงมันสำปะหลังอาจยืนต้นตายได้
แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
         1. หากพื้นที่ปลูกเป็นดินดาน ควรไถระเบิดชั้นดินดาน และตากดินไว้ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนปลูก
         2. แปลงปลูกควรยกร่อง เพื่อไมให้น้ำท่วมขัง
         3. คัดเลือกท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค
         4. ก่อนปลูกแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 20-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 10 นาที
         5. ควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการระบาดของโรค
         6. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรค ถอนนำไปทำลายนอกแปลงปลูกแล้วโรยปูนขาว หรือราดด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 20-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร บริเวณที่ถอนและโดยรอบห่าง
ออกไปประมาณ 1 เมตร
         7. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บเศษเหง้า และเศษซากมันสำปะหลัง ไปทำลายนอกแปลงปลูก
         8. ควรทำความสะอาดเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ในแปลงที่เป็นโรค เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรค อาจติดมากับเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น
         9. ในแปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น อ้อย ข้าวโพด หรือพืชตระกลถั่ว
         กรณีที่พบการระบาดของโรครุนแรง ควรปฏิบัติดังนี้
         1. พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรคมากกว่าร้อยละ 50 ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน
         2. พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรค ร้อยละ 30-50
         - มันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือน ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน
         - มันสำปะหลังอายุ 4-7 เดือน หว่านปูนขาวให้ทั่วแปลง และควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที
         - มันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไป ควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที

         ที่มาข้อมูล : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร

 #สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND #Khonkaen2Day

   

CR: ทปษ.ชาลี พงษ์นุ่มกูล
ข้อมูลข่าวและที่มา : https://thainews.prd.go.th
ผู้สื่อข่าว : พิชัย ศิริสม
เรียบเรียงโดย : กนกพร ประสงค์
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น

 

 

Today
This Week
This Month
All days
97
1543
11857
409770

 

kk2day footer

facebook      twitter      line     youtube      gmail
© Copyright 2020 WWW.KHONKAEN2DAY.COM

Search

Sign in to your account