จ.ขอนแก่น เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดขอนแก่น โดย ดร. เสงี่ยม กอนไธสง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานาการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยพบการระบาดในนาข้าวพื้นที่ บ้านบึงฉิม หมู่ 4 ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยศูนย์ฯ ได้ให้คำแนะนำในการใช้สารเคมีในแปลงที่พบการระบาดรุนแรง สำหรับแปลงบริเวณข้างเคียงที่สำรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและยังไม่ระบาดรุนแรง ศูนย์สนับสนุนเชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตตาไรเซียม และสารสกัดสะเดาในการควบคุมและได้แจ้งเกษตรกรให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดและลงสำรวจแปลงนา หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ติดต่อรับการสนับสนุนชีวภัณฑ์ เพื่อควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่โดยเร่งด่วนต่อไป
สำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งตายเป็นหย่อม ๆ (hopper burn) ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก
โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ในนาข้าวที่ขาดน้ำ การป้องกันและกำจัด :
1) ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข29 กข31 ปทุมธานี 1 ชัยนาท1 ชัยนาท2 พิษณุโลก2 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก
2) ในแหล่งทีพบการระบาด หลังหว่านข้าวหรือหลังปักดำ 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้อง ให้ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรียผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเอง สลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
3) เมื่อข้าวอายุประมาณ 35-40 วัน หากสำรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัว/กอ ให้ใช้สารฆ่าแมลงในการควบคุมเพื่อป้องกันการระบาด 4) ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น แอลฟาไซเพอร์เมทริน ไซเพอร์เมทริน ไซแฮโลทริน เดคาเมทริน เอสเฟนแวเลอเรต เพอร์เมทริน ไตรอะโซฟอส ไซยาโนเฟนฟอส ไอโซซาไทออน ไฟริดาเฟนไทออน ควินาลฟอส และเตตระคลอร์วินฟอส เป็นต้น เพราะจะทำให้เกิดการเพิ่มการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ปัจจัยที่มีผลต่อการระบาด
1. ปลูกข้าวแบบนาหว่าน้ำตม ทำให้จำนวนข้าวหนาแน่น อุณหภูมิและความชื้นในแปลงนาเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
2. ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูง ทำให้ใบข้าวเขียว หนาแน่น ต้นข้าวอวบน้ำ เหมาะแก่การดูดกินและอาศัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
3. นาข้าวที่มีน้ำขังตลอดเวลา เนื่องจากสภาพความชื้นในนาข้าวที่มีน้ำขังตลอดเวลา เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่านาข้าวที่มีการระบายน้ำในนาออกเป็นครั้งคราว
4. การใช้สารฆ่าแมลงช่วงหลังหว่าน เนื่องจากข้าวในระยะ 30 วันหลังหว่านเป็นช่วงที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยพึ่งจะอพยพเข้ามาในนาข้าว การใช้สารฆ่าแมลงจึงเป็นการไปทำลายศัตรูธรรมชาติแต่ไม่สามารถทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่จึงมีโอกาสรอดชีวิตสูง
#สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND #Khonkaen2Day
Admin : ปิยพล จันทรา
ข้อมูลข่าวและที่มา : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดขอนแก่น