เทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และ งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น
29 พฤศจิกายน 2563 - 10 ธันวาคม 2563
เทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และ งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น หน้าศาลากลาง อ.เมือง จ.ขอนแก่น กิจกรรม ชมขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง พิธีผูกเสี่ยว การประกวดพานบายศรี การจัดแสดงและประกวดผ้าไหม การประกวดนางงามไหม การจัดคุ้มศิลปวัฒนธรรม การประกวดสรภัญญะ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และชมการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP
ขอนแก่น ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ และ “แคนแก่นคูน” คือ ลายผ้าไหมประจำจังหวัดที่แสดงอัตลักษณ์เมืองขอนแก่น
ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดขอนแก่นนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 จังหวัดขอนแก่น ได้รับการรับรองจากสภาหัตถกรรมโลก World Craft Council (WCC)-UNESCO ให้เป็น “เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่“
อีกหนึ่งประเพณีเก่าแก่คือ ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท–ลาว โดยคำว่า “เสี่ยว“นั้น ในภาษาอีสานมีความหมายว่า “เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย” ซึ่งการผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตายกัน โดยใช้ฝ้ายมงคลผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ทั้งคู่
เพื่อการสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่นจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำเอาประเพณีผูกเสี่ยวและงานไหมมาจัดร่วมกันจนเกิดเป็น “งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2562” ซึ่งงานนี้ได้จัดมาเป็นเวลานานกว่า 41 ปีแล้ว
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น ขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ซึ่งประดับตกแต่งขบวนโดยเน้นถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น การจัดพิธีผูกเสี่ยวและคุ้มศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการจัดประกวดนางงามไหมขอนแก่น มีการแสดงนวัตกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวกับไหม และพิเศษสุดกับการประกาศลายผ้าไหมประจำจังหวัดขอนแก่น คือ ลาย “แคนแก่นคูน” ที่ได้รวบรวมลายผ้าทั้งหมด 7 ลายเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ลายแคน หมายถึง สัญลักษณ์แทนความเจริญและสนุกสนาน, ลายดอกคูณ หมายถึง ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น, ลายพานบายศรี หมายถึง มิตรภาพ ประเพณีการผูกเสี่ยว, ลายขอ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของขอนแก่น, ลายโคม หมายถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรมของชาวขอนแก่น, ลายกง หมายถึง อาณาเขตที่ได้รับการรักษาให้มั่นคง ปลอดภัย และลายหมากจับ หมายถึง ความรัก ความสามัคคี ของชาวขอนแก่น
นอกจากนี้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ จีน ลาว เวียดนาม และเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินดารายอดนิยมเป็นประจำทุกคืน และอีกไฮไลท์คือพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่นเพื่อฉลอง 222 ปี จังหวัดขอนแก่นโดยมีผู้มาร่วมรำบวงสรวง มากกว่า 1 แสนคนและแต่งกายด้วยผ้าลาย “แคนแก่นคูน” ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัดขอนแก่นและยังมีการรำแปรอักษร 222 KHONKAEN อีกด้วย นับได้ว่าเป็นการแปลอักษรครั้งยิ่งใหญ่เลยครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
ภาพ/ข่าว : ทปษ.ชาลี พงษ์นุ่มกูล