ชมรมผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง จัดประชุม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างการตลาด เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ที่ ศูนย์การเรียนรู้หอยเชอรี่สีทอง คำอ้นฟาร์ม ต.โนนฆ้อง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ชมรมผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง จัดประชุมชมรมผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทองจัดครั้งที่ 4 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สมาชิก และหารือเรื่องการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างยั่งยืน นำโดย รศ.ดร.ไกรเลิศทวีกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง และนายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง สมาชิกชมรมผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทองและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมประชุม
รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล กล่าวว่า เนื่องด้วยมีเกษตรกรสนใจการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองมากขึ้น มีการแปรรูปที่หลากหลาย และตลาดยังต้องการผลผลิตนี้ รวมถึงมีการบริโภคของผู้เลี้ยง ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงหอยเซอรี่สีทอง มีการรวมกลุ่มกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงการจัดการ การเพิ่มมูลค่าและการตลาด อยู่เป็นประจำในกลุ่มผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง ได้มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ในพื้นที่ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
“ชมรมได้ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2564 ด้วยความร่วมมือของเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง จาก 3 อำเภอ คือ อ.บ้านฝาง นำโดย นายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง, อ.ยางตลาด นำโดย นายฤกษ์ชัยภูพานทอง และ อ.พระยืน นำโดย อาจารย์สังวาลย์ สุนทอง หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ JAEC KHON KAEN THAILAND เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงและการจัดการ, เพื่อรวมกลุ่มให้เข้มแข็งและขยายเครือข่าย, เพื่อแสวงหาตลาดและการจัดจำหน่ายที่เอื้อประโยชน์ต่อสมาชิก โดยในการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานและเทคนิคการเลี้ยงที่ได้ผลจากการศึกษาของเครือข่ายเอง อาหารและบ่อเลี้ยง รวมถึงการตลาด นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำให้หอยเชอรี่สีทองจำศีล เพื่อส่งไปให้ลูกค้าทั่วประเทศ รวมถึงการสาธิตการปรุงอาหารจากหอยเชอรี่สีทองหลากหลายเมนู”
รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล กล่าวอีกว่า“หอยเชอรี่สีทองเลี้ยงง่าย กินพืชผัก วัชพืชสีเขียว เช่น แหนแดง ผักโขม ใบของต้นผงชูรส มันสำปะหลัง ยอดกล้วย ผักก้านจอง และอื่นๆ ที่ลอยน้ำ ข้อดีของการเลี้ยงหอยเซอรี่สีทองคือแทบไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายจากการซื้ออาหาร การเพาะเลี้ยงมีทั้งการเลี้ยงในกระชังและบ่อดิน บ่อพลาสติก บ่อซีเมนต์ โอ่งยักษ์ ซึ่งแต่ละแบบมีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกัน โดยจุดเด่นของเนื้อหอยเซอรี่สีทองคือมีเนื้อนุ่ม กรอบ อร่อย หวาน หัวไม่แข็ง ไม่มีเส้นเมาจึงสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย
“จากการศึกษาโดยสมาชิกพบว่าการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองในแปลงนา ปรากฏว่าต้นข้าวไม่ถูกหอยเชอรี่สีทองกัดกิน แสดงให้เห็นว่าหอยเชอรี่สีทองไม่เป็นศัตรูกับต้นข้าวเหมือนหอยเชอรี่ตามธรรมชาติ นอกจากนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยและแปรรูปได้ทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในหลายประเด็น เรียกว่าวิจัยชุมชน ตอบโจทย์ชุมชน เช่น การเลี้ยงหอยเซอรี่สีทองในนาข้าว ,การคัดเลือกสายพันธุ์และการผสมข้ามฟาร์ม , ชนิดพืชอาหารที่เหมาะสม, ช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการแปรรูอาหาร, การศึกษาตลาด Onlineและ Offline, ประเภทบ่อเลี้ยงที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ นับว่าเกษตรกรต้องศึกษาเอง ค้นคว้าเอง และมีการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ จากเกษตรกรหลากหลายแห่งด้วยกัน”
Admin : ปิยพล จันทรา
ข้อมูลข่าวและที่มา : https://thainews.prd.go.th
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น