เทศบาลนครขอนแก่น เสนอสร้างศูนย์ทูบี นัมเบอร์วัน เด็กชายขอบ ต่อคณะอนุกรรมการฯ ระดับประเทศ
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เสนอสร้างศูนย์ TO BE NUMBER ONE เด็กชายขอบ ต่อคณะอนุกรรมการตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินงานชมรม TO BE NUMBER ONE ระดับประเทศ ตอบโจทย์ประเทศด้าน “การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม”
ที่ ห้องประชุมเสียงแคน ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น คณะอนุกรรมการตัดสินการประกวดจังหวัด TO BE NUMBER ONE ต้นแบบรักษามาตรฐานระดับเพชร เพื่อก้าวสู้ระดับยอดเพชร ปีที่ 7 ประจำปี 2565 (รอบพื้นที่) ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและเก็บคะแนน ที่จังหวัดขอนแก่น โดยมี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ประธานอนุกรรมการตรวจติดตามผลการดำเนินงานชมรม TO BE NUMBER ONE และคณะ, นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมติดตามผลการดำเนินงาน
สำหรับจังหวัดขอนแก่น ได้น้อมนำพระปณิธานในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาดำเนินการอย่างมุ่งมั่นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยใช้กลวิธียึดวัยรุ่นและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง สร้างกระแสการแสดงพลังอย่างถูกต้อง โดยไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่วัยรุ่นและเยาวชน สามารถดำรงความเข้มแข็งในการต่อต้านป้องกันปัญหายาเสพติด พัฒนาศักยภาพสมาชิกและชมรมฯ ทุกประเภท ส่งผลให้ จังหวัดขอนแก่นได้รับพระราชทานรางวัล TO BE NUMBER ONE ในทุกประเภท ซึ่งปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดทูบีนัมเบอร์วัน รักษาระดับมงกุฎเพชร และจะมีการมาตรวจเยี่ยมให้คะแนนชมรมทูบีนัมเบอร์วัน ในกลุ่มต่างๆ ด้วย ทั้งสถานประกอบการ สถานศึกษา และระดับชุมชนทูบีนัมเบอร์วัน ด้วย
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ชมรม TO BE NUMBER ONE ถือเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา ชมรม ที่อยู่ในกรอบ แต่เด็กชายขอบ เดิมเรียกว่าเป็นกลุ่มเด็กแว้น เด็กสก๊อย ที่เคยสร้างปัญหา แต่ตอนนี้ กลายเป็นเด็กที่เป็นแบบอย่างที่ดี และมีการปรับพฤติกรรม ทั้งการทำอาชีพ การเรียนต่อ มีงานทำ หลายคนกลับบ้าน เมื่อเห็นผลจากศูนย์สร้างโอกาสก็มาการต่อยอด แทนที่ให้เด็กเข้ามาหา เปลี่ยนเป็นการลงชุมชนเพื่อไปหาเด็กที่มีปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้แก่เด็กให้สามารถยืนอยู่ในสังคมต่อไปได้ ซึ่งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนชายขอบในสังคมเมือง เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา เด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของเครือข่าย จึงอยากให้มีระเบียบราชการในการจัดการปัญหาเด็กชายขอบ
ปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่น มีศูนย์เรียนรู้เด็กชายขอบในเทศบาลนครขอนแก่น เป็นบ้านเช่า เมื่อมีสภาพทรุดโทรม จะใช้งบประมาณในการไปพัฒนาซ่อมแซม ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นไม่สามารถทำได้เพราะติดระเบียบราชการ ดังนั้นเทศบาลนครขอนแก่น จึงอยากใช้พื้นที่โรงเรียนจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้เด็กชายขอบ เพื่อให้มีพื้นที่ยืนที่ชัดเจน มีพื้นที่ให้ท้องถิ่นต่างๆ มาศึกษาเรียนรู้ที่ชัดเจน โดยวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เทศบาลนครขอนแก่น จะเปิดเวทีสาธารณะกับพี่น้องประชาชนในเขตรอบสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง เพื่อให้ทุกคนรับฟัง พร้อมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเด็กชายขอบ ประชาชนสังคม หน่วยงานต่างๆ ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะหากทุกคนเขาใจ ให้สามารถใช้อาคารบางอาคารในโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เด็กชายขอบได้ จะเป็นการยกระดับคุณภาพเด็กนอกระบบ สามารถตอบโจทย์ประเทศได้ ในเรื่อง” การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม”
#สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND #Khonkaen2Day
CR: ทปษ.ชาลี พงษ์นุ่มกูล
ข้อมูลข่าวและที่มา : https://thainews.prd.go.th
ผู้สื่อข่าว : เพชรรัตน์ วังระหา
เรียบเรียงโดย : ธัญญารัตน์ ธีรหิรัญวัฒน์
แหล่งที่มา : สวท.ขอนแก่น