เทศบาลนครขอนแก่นรับการตรวจประเมินเชิงประจักษ์ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสีโห นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น มอบหมายให้ นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมต้อนรับคณะอนุกรรมการการตรวจประเมินเชิงประจักษ์ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ โดยมี รองปลัดเทศบาล (นางอารีย์ สุรารักษ์ , นายภาษิต ชนะบุญ) นางอินทิรา ฆารเจริญ ผอ.กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ นางธัญวรัตน์ สานนท์ ผอ.ส่วนการโยธา , นายกวี ศิริชาติวาปี ผอ.ส่วนช่างสุขาภิบาล , นายทัศนัย ประจวบมอญ ผอ.ส่วนส่งเสริมสาธารณสุข , น.ส.สมพร ชัยอยุทธ์ ผอ.ส่วนบริการสาธารณสุข , นายศรัณย์ เปานาเรียง ผอ.ส่วนส่งเสริมการศึกษา , นางวทัญญุตา ธวัชโชติ ผอ.ส่วนสังคมสงเคราะห์ และพนักงานเทศบาลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการการตรวจประเมินเชิงประจักษ์ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ นำโดย นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ โดยในช่วงเช้าคณะอนุกรรมการฯ ร่วมรับฟังการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน มิติเมืองอยู่ดี มิติคนมีสุข มิติเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และมิติเทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นนำเสนอนวัตกรรมดังต่อไปนี้ 1) “นวัตกรรมเด็กชายขอบ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมโครงการเกิดจากนโยบายการบริหารงานด้านการจัดการศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งมีผู้รับผิดชอบหลักโดยฝ่ายการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่นได้สำรวจข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบ เยาวชนกลุ่มเสี่ยง และเยาวชนด้อยโอกาส ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น 2) โครงการฟื้นฟูสุขภาพและพัฒนาเครือข่ายเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการชุมชน โดยงานฟื้นฟูสุขภาพ ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ส่วนบริการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครขอนแก่น ได้ทำโครงการฟื้นฟูสุขภาพและพัฒนาเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้สามารถยอมรับและปรับตัว ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแบบบูรณาการให้เอื้อต่อการส่งเสริมศักยภาพและฟื้นฟูสุขภาพสูงสุดตามสภาพ รวมถึงสิทธิ์สวัสดิการให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมบุคคลทั่วไป 3) โครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการขยะแบบดั้งเดิมด้วยการฝังกลบ เป็นการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า (Waste to Energy) โดยในปี พ.ศ. 2559 เทศบาลนครขอนแก่นได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยในการจัดตั้งโครงการฯ เทศบาลฯจึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ได้มีการสร้างรายได้ สร้างงาน ให้กับคนในชุมชน โดยมีการจ้างแรงงานเป็นพนักงานบริษัท มูลค่า 12 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่โดยรอบ มีเงินสมทบทุนเข้ากองทุนโรงไฟฟ้า ปีละประมาณ 4.8 แสนบาทต่อปี รวม 20 ปี มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท จากการดำเนินงานการบริหารการจัดการขยะมูลฝอย โดยเปลี่ยนจากฝังกลบ เป็นการใช้เทคนิค “เผาตรงระบบปิด”เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการฝังกลบ ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเดือนตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2559 - กันยายน 2563 จากการศึกษาพบว่า สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมสะสมทั้งสิ้น 78,926.93 (tCO2e/year) จากนั้นในช่วงบ่ายคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานโครงการนวัตกรรมของเทศบาลนครขอนแก่น ทั้งนี้ การตรวจประเมินเชิงประจักษ์ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศหากมีความคืบหน้าเทศบาลนครขอนแก่นจะแจ้งให้ทราบต่อไป
#สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND #Khonkaen2Day
Admin : ปิยพล จันทรา
ข้อมูลข่าวและที่มา : เทศบาลนครขอนแก่น