คนอีสานครองแชมป์โรคมะเร็งท่อน้ำดี คปภ. ผนึกพลังภาคธุรกิจพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย
“โรคมะเร็งท่อน้ำดี” ลดความเสี่ยงภัยให้พี่น้องชาวขอนแก่น
คปภ. บูรณาการร่วม 6 หน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ให้ประชาชนด้วยประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี
ที่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรม ดังนี้ 1) การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ระหว่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดขอนแก่น สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินจังหวัดขอนแก่น ชมรมประกันวินาศภัยจังหวัดขอนแก่น และสำนักงาน คปภ.จังหวัดขอนแก่น สำนักงาน คปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) 2) การเสวนาในหัวข้อ “กินปลาปรุงสุก ถูกสุขอนามัย ลดความเสี่ยงภัยด้วยประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี” 3) การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี
นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยโดยเฉพาะโรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่ถือเป็นปัญหาสุขภาพของพี่น้องชาวจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน ถือเป็นโครงการที่ดีที่เกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงภัยและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ได้ และที่สำคัญคือประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารแบบสุกๆดิบๆ เช่นลาบปลา ก้อยปลาดิบ หันมารับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดีและห่างไกลจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพคนอีสาน
ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ประชากรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในกลุ่มปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด โดยวิธีการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ปลาหมกไฟ ปลาร้า ที่เป็นกลุ่มปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ทำให้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และหลังจากติดเชื้อประมาณ 20-30 ปี ก็จะป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและเสียชีวิต ประกอบกับข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี พบว่าประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถิติการป่วยเป็นโรคนี้สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี เป็นการสูญเสียชีวิตในช่วงวัยแรงงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศตามมา”
นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า “การนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนใช้ในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพที่รองรับภาระการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคที่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตหรือวัฒนธรรมของประชาชน คปภ.จึงร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ประกันภัย “โรคมะเร็งท่อน้ำดี” ขึ้น และให้ความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิตได้อย่างเหมาะสม และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมี 2 บริษัทเป็นผู้รับประกันภัย ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย “โรคมะเร็งท่อน้ำดี” จะให้ความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคเป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีหลักฐานรายงานการตรวจวินิจฉัย X-RAY ช่องท้องด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือ รายงานการตรวจวินิจฉัยช่องท้องด้วยเครื่องแม่เหล็ก (MRI หรือ MRCT) บริษัทผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินชดเชย จำนวน 50,000 บาท หรือ 100,000 บาท ตามวงเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ โดยอัตราเบี้ยประกันภัยจะแบ่งตามช่วงอายุผู้เอาประกันภัย โดยมีเงื่อนไขการรับประกันภัย คือ รับประกันสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 1 ปี บริบูรณ์ ถึง 65 ปี บริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิซื้อได้เพียง 1 คนต่อ 1 กรมธรรม์ ไม่คุ้มครองโรคมะเร็งท่อน้ำดี ภายในระยะเวลา (waiting Period) 90 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับครั้งแรก ทั้งนี้ เงื่อนไขความคุ้มครองและข้อยกเว้นเพิ่มเติมเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์”
รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า “สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชน ได้เข้าถึงและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน อันจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186”
#สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND #Khonkaen2Day
Admin : ปิยพล จันทรา
ข้อมูลข่าวและที่มา : https://thainews.prd.go.th
ผู้สื่อข่าว : เพชรรัตน์ วังระหา
เรียบเรียงโดย : ธัญญารัตน์ ธีรหิรัญวัฒน์
แหล่งที่มา : สวท.ขอนแก่น